โบราณสถานวัดรัตนาราม (วัดแก้ว)

เจดีย์วัดแก้ว  มีอายุเก่าแก่ร่วมพันปีมาแล้ว   และร่วมสมัยเดียวกันกับเจดีย์วัดหลง  พระเจดีย์ วัดพระบรมธาตุไชยา (ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 14-15 ) แต่เดิมพระเจดีย์วัดแก้วทรุดโทรมมาก บริเวณทั่วไป ปกคลุมด้วยมูลดินและวัชพืช  โดยเฉพาะห้องกลางของเจดีย์มีดินและอิฐหักอัดแน่นเต็มห้อง  เห็นลักษณะ รวดทรงทางสถาปัตยกรรมแต่เพียงด้านทิศใต้เพียงด้านเดียว  ต่อมาเมื่อ  พ.ศ.  2519  และ  พ.ศ.2522 กองโบราณคดี   กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งและบูรณะ จึงทำให้เห็นรูปทรงทางศิลปะ   การขุดแต่ง โบราณสถานแห่งนี้ทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดี  หลักฐานที่พบได้แก่   เครื่องมือหิน เศษภาชนะดินเผา กระปุก พระพุทธรูป และประติมากรรมในศาสนาพราหมณ์

สิ่งที่น่าสนใจ

วัดแก้วตั้งอยู่ในเมืองโบราณไชยา เป็นวัดโบราณที่คู่กับวัดหลง  อาคารศาสนสถานที่สำคัญได้แก่ เจดีย์หรือประสาท ก่ออิฐไม่สอปูน เป็นสถาปัตยกรรมศิลปะศรีวิชัย ยังเหลือซากอาคารอยู่ครึ่งองค์ตั้งแต่ส่วนฐานถึงเรือนธาตุ ส่วนเครื่องยอดหรือหลังคาหักพังลงมาหมดแล้ว สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในเมืองไชยาเท่าที่ปรากฏอยู่ในรูปแบบเดิมจนถึงปัจจุบัน ศาสนสถานองค์นี้จึงเป็นประโยชน์แก่การศึกษาค้นคว้าทางสถาปัตยกรรมในสมัยศรีวิชัยมาก เนืองจากโบราณสถานสมัยนี้ส่วนใหญ่มักพังทลายเกือบหมดแล้ว ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 ตอนที่ 34 วันที่ 27 กันยายน 2478

โบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญในวัดได้แก่

1.เจดีย์ทรงปราสาท โครงสร้างก่ออิฐไม่สอปูน ขัดผิวหน้าอิฐเรียบ อยู่ในผังรูปกากบาทฐานชั้นล่างสุดเป็นฐานเขียงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ลักษณะเป็นฐานประทักษิณ มีบันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ตัวอาคารเรือนธาตุเป็นอาคารทรงจัตุรมุขขนาดประมาณ 18 x 18 เมตร ระหว่างมุมของมุขต่อด้วยมุมของเรือนธาตุ (มุมใหญ่ต่อมุมใหญ่) ออกเก็จเพิ่มมุมอีก 1 มุม จนดูคล้ายย่อมุมไม้ยี่สิบ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วมิใช่การย่อมุม เพราะมุมที่แตกออกมาเป็นมุมเล็กคนละขนาดกับมุมใหญ่ (เรียกว่าเพิ่มมุม)  ตัวเรือนธาตุวางอยู่บนชุดฐานบัวที่ประกอบด้วยฐานเขียง กึ่งกลางฐานเขียงค่อนไปทางด้านบน เว้นเป็นร่องและก่ออิฐเว้นช่อง ต่อด้วยบัวคว่ำและลูกแก้ว ชุดฐานนี้ทำหน้าที่เป็นบัวตีนธาตุ ถัดขึ้นไปเป็นผนังอาคาร มุขด้านทิศตะวันออกเป็นทางนำสู่ห้องโถงกลาง (ห้องครรภคฤหะ) ขนาดประมาณ 4 x 4 เมตรประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยก่ออิฐ สภาพชำรุดเหลือเฉพาะหน้าตักขนาดกว้างเกือบ 4 เมตรถึงส่วนบั้นพระองค์ ส่วนหลังของพระประธานก่ออิฐติดกับผนังอาคาร ด้านซ้ายและขวาของพระประธานเจาะซุ้มจระนำสำหรับประดิษฐานนพพระพุทธรูปก่ออิฐส่วนหลังองค์พระติดกับผนังอาคารเช่นเดียวกัน

ผนังด้านนอกอาคารตกแต่งด้วยเสาติดผนังและเซาะร่องผ่ากลางเสาจากโคนไปถึงยอดเสา เสารูปแบบนี้มีใช้ในจันทิกาละสันในชวาภาคกลาง ประเทศอินโดนีเซีย แต่ก็ยังคล้ายกับเสาติดผนังที่ประสาทจาม ศิลปะมีเซิน A1 ในประเทศเวียดนามมากกว่า  มุขด้านทิศใต้ยังอยู่ในสภาพดี ด้านลักษณะเป็นห้องคูหาปรากฏเสาประดับกรอบประตูอิฐ ด้านข้างมีซุ้มจำลองคงย่อส่วนจากรูปแบบอาคารจริง ซึ่งปัจจุบันส่วนยอดหักพังไปหมดแล้ว ประตูทางเข้ามุขด้านทิศใต้มีกรอบประตู ทับหลังประตูทำจากหินปูน อยู่ในสภาพดั้งเดิม ความสูงของประตูประมาณ 1.60 เมตร เข้าใจว่าประตูทางเข้าทุกด้านของมุขคงมีลักษณะนี้หมดทุกด้าน ภายในห้องคูหาประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยก่ออิฐ สภาพชำรุดส่วนหลังองค์พระก่อติดกับผนังอาคาร ด้านซ้ายและขวาเจาะซุ้มจระนำสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปเช่นเดียวกับห้องโถงกลาง ที่ผนังด้านทิศตะวันตกของมุขด้านนี้มีการตกแต่งผนังโดยทำซุ้มจำลอง แสดงว่าผนังมุขทุกด้านคงตกแต่งด้วยซุ้มจำลองเหมือนกันหมด อย่างไรก็ดีมุขด้านทิศเหนือมีร่องรอยการบูรณะปรับเปลี่ยนโดยนำพระพุทธรูปหินทรายสีแดงสมัยอยุธยาเข้ามาประดิษฐานในคูหาแทน เหนือชั้นเรือนธาตุด้านทิศใต้ปรากฏร่องรอยซุ้มหน้าบันเป็นวงโค้งเล็ก ๆ (กุฑุ) ประดับอยู่ น่าจะมีทั้งสี่ด้าน ส่วนยอดของอาคารถัดขึ้นไปจากห้องนี้หักพังลงมาหมดแล้วแต่เข้าใจว่าน่าจะเป็นการจำลองอาคารลดหลั่นขึ้นไปเป็นชั้นๆ แบบประสาทขอมหรือประสาทจามหากแต่ว่าละชั้นของหลังคาคงประดับด้วยสถูปจำลอง (สถูปิกะ) อันเป็นสัญลักษณ์แห่งมณฑลจักวาลของพุทธศาสนามหายาน ทั้งนี้สถูปจำลองทำด้วยศิลาทรายแดงหลายองค์บริเวณรอบฐานอาคาร คงจะหักพังมาจากส่วนยอด และเข้าใจว่ายอดบนน่าจะเป็นสถูปกลมใหญ่ 1 องค์รับกับสถูปจำลองที่ประดับอยู่ตามชั้นหลังคา

จากรูปลักษณะแผนผังรูปกากบาทประกอบด้วยเรือนธาตุและมุขทั้งสี่ด้าน มีลักษณะคล้ายจันทิกะลาสัน สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระนางตารา ในศิลปะชวาภาคกลาง กำหนดอายุจากจารึกที่พบที่จันทิกาละสันตรงกับ พ.ศ. 2321 แต่ลักษณะการตกแต่งภายนอกมีความคล้ายคลึงกับประสาทในศิลปกรรมจากสถาปัตยกรรมแบบท้องถิ่นที่สร้างสรรค์ขึ้นในเมืองไชยาเอง โดยได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปกรรมจากอินเดีย ส่วนที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกับศิลปะในประเทศเพื่อนบ้านไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นผู้รับหรือผู้ส่งอิทธิพลให้แก่กัน กำหนดอายุโบราณสถานราวพุทธศตวรรษที่ 14-15

การเดินทาง

เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวจากที่ว่าการอำเภอไชยาเส้นทางถนน 4011ไปยังสี่แยกไชยา ระยะทาง 2.5 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 8 นาที มายังตำบลเวียง เข้าซอย 7-11 ตำบลเวียง ประมาณ 500 เมตร อยู่เยี้ยงกับโรงเรียนไชยาวิทยา

ช่วงเวลา ฤดูกาลที่เหมาะสมแก่การท่องเที่ยว สามารถท่องเที่ยวได้ทุกฤดูกาล เวลา 07.00-18.00

 

กิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่

เยี่ยมชมโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญภายในวัด

Services

มีที่จอดรถ

แนวปฏิบัติของพื้นที่

เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่

ผู้เข้าชมต้องแต่งกายสุภาพ

งดเว้นการนุ่งกางเกงขาสั้น กระโปรงสั้น ทั้งสตรีและบุรุษ

แผนที่

แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง

วัดพระบรมธาตุไชยา

สวนโมกขพลาราม

โบราณสถานวัดหลง

contact

  • การให้บริการ : ทุกวันทำการ
  • ที่อยู่ : หมู่ที่ 2 ถนนสันตินิมิต ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยาโทรศัพท์  077 431 066