หอพุทธทาสธรรมโฆษณ์

         2519เป็นปีแรกที่สถาบัน คือ วิทยาลัยครูสุราษฎร์ธานีในขณะนั้นเปิดทำการสอน อาจารย์ผู้สนใจงานวัฒนธรรมกลุ่มหนึ่งได้ก่อตั้ง ศูนย์วัฒนธรรมบ้านเรา ขึ้นเพื่อศึกษา รวบรวม ส่งเสริม และเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่นสุราษฎร์

            2520กรมการศาสนาได้รับศูนย์วัฒนธรรมบ้านเราเป็นหน่วยประเคราะห์ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยและจัดสรรงบประมานประจำปีเป็นเงินอุดหนุนในการดำเนินงานประกอบกับในเวลาต่อมาสถาบันและกรมการฝึกหัดครูได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมขึ้นเป็นส่วนราชการระดับคณะในระดับวิทยาลัยโดยออกเป็นประกาศกระทรวงศึกษาธิการขึ้น ชื่อของศูนย์วัฒนธรรมบ้านเราจึงเปลี่ยนเป็น ศูนย์วัฒนธรรมวิทยาลัยครูสุราษฎร์ธานีทำให้งานวัฒนธรรมเป็นภารกิจหลักด้านหนึ่งของสถาบันที่เริ่มเข้มแข็งขึ้นตั้งแต่บัดนั้น

            2523 กระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติขึ้น หน่วยประเคราะห์ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย จึงได้โอนมาขึ้นกับสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติและได้ยกฐานะเป็นศูนย์วัฒนธรรมประจำจังหวัดชื่อว่าศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรมโดยให้ศูนย์นี้ตั้งอยู่ ณ วิทยาลัยครูสุราษฎร์ธานี

            2534ได้เปลี่ยนชื่อศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรมเป็นศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี

            2538วิทยาลัยครูสุราษฎร์ธานีได้ยกฐานะเป็นสถาบันราชภัฏสุราษฎร์ธานีศูนย์วัฒนธรรมวิทยาลัยครูสุราษฎร์ธานีจึงได้เปลี่ยนเป็นศูนย์วัฒนธรรมสถาบันราชภัฏสุราษฎร์ธานีและยังคงดำเนินงานร่วมกับศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี

            2539ได้มีการปรับปรุงโครงสร้าง หน้าที่ความรับผิดชอบของส่วนราชการในสังกัดสำนักงานสถาบันราชภัฏ เพื่อลดขนาดและเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร จัดอัตรากำลังบุคลากรที่มีอยู่ให้เหมาะสม ศูนย์วัฒนธรรมในสถาบันราชภัฏสุราษฎร์ธานีจึงได้เปลี่ยนเป็น สำนักศิลปวัฒนธรรมมีฐานะเป็นส่วนราชการระดับคณะตามพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ. 2538 มีบทบาทสำคัญในการศึกษาค้นคว้า ส่งเสริม พัฒนา และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมตามภารกิจหนึ่งในหกด้านของสถาบันราชภัฏสุราษฎร์ธานี

            2547 สถาบันราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ส่งผลทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และเพื่อให้เป็นไปตามโครงสร้างใหม่สำนักศิลปวัฒนธรรมจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น สำนักศิลปะและวัฒนธรรมตามกฎกระทรวงจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 1 มีนาคม 2548

สิ่งที่น่าสนใจ

1.หน้าบันอาคารหอพุทธทาสธรรมโฆษณ์

            สถาปัตยกรรมหอพุทธทาสธรรมโฆษณ์ ภายในสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี วางศิลาฤกษ์ก่อสร้างเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2538 สิ่งโดดเด่นสะดุดตา ได้แก่ หน้าบันประดับลายปูนปั้นงดงามจับตา ผลงานครูชัยวัฒน์ วรรณานนท์ สะท้อนถึงการใช้ทักษะฝีมือ ความประณีต ละเอียด แสดงออกถึงแนวทางและปรัชญาการทำงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

              “เมื่อได้รับงานนี้ หวังว่างานนี้ต้องเกี่ยวพันกับชื่อของสถานที่ คือ หอพุทธทาสธรรมโฆษณ์ ซึ่งแปลว่า การกระจายหรือการเผยแพร่ธรรมของท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านทำงานเกี่ยวกับศรีวิชัยคืนชีพ ท่านชื่นชมงานศรีวิชัยมาก ฉะนั้นเราควรจะเอาเรื่องลวดลายเข้ามาใช้ โดยจะให้ทุกหน้าจั่วบ่งบอกถึงธรรมะ ที่เป็นหัวใจสำคัญแท้ ๆ ที่ อาจารย์พุทธทาสเคยเทศน์ เคยสอน คือ เรื่องสุญตา เป็นตัวพื้น ประกอบกับลวดลายอื่น ๆ ที่ท่านอาจารย์เคยแนะนำให้ปั้น เช่น ภาพราหูอมจันทร์ เพราะเป็นคติอันต่อเนื่องมาจากความคิดของคนโบราณแถบไชยา ท่าฉาง เป็นปริศนาธรรมให้อุบาสก อุบาสิกา ที่มาวัดพยายามดึงตนออกจากปากแห่งความชั่วร้าย เหมือนพระจันทร์ดิ้นให้หลุดจากปากของราหู พระจันทร์ หมายถึง ความประภัสสรแห่งจิต ราหู หมายถึง อุปกิเลสที่ทำให้จิตเศร้าหมอง”     

              ปัจจุบันหน้าบันหอพุทธทาสธรรมโฆษณ์ ได้สร้างเสร็จตามต้นแบบแล้วจำนวน 5 หน้า คงเหลืออีก 4 หน้า ที่จะต้องดำเนินการให้เสร็จตามที่ออกแบบไว้ รวมทั้งหมดมี 9 หน้าบัน อันเป็นความหมายที่ ครูชัยวัฒน์ ต้องการสื่อความหมายโดยรวมถึงรัชกาลที่ 9 แทนช่วงเวลาในการสร้างสรรค์งาน และคุณธรรมชั้นเลิศของพระพุทธศาสนา 9 ประการที่ตั้งใจฝากไว้คู่แผ่นดิน

2.ห้องนิทรรศการประวัติและผลงานท่านพุทธทาส

              ประกอบด้วยนิทรรศการประวัติและผลงานของท่านพุทธทาสภิกขุ หรือพระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปัญโญ) พระภิกษุชาวบ้านพุมเรียง ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้ก่อตั้งวัดธารน้ำไหล (สวนโมกขพลาราม) และได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ห้องฉายวีดีทัศน์คำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุขนาด 10 ที่นั่ง

3.ห้องสมุดธรรมโฆษณ์

           ห้องสมุดเฉพาะทางสำหรับการค้นคว้าศึกษาเอกสารโบราณประเภทหนังสือบุดหรือสมุดข่อย หนังสือด้านศาสนาและศิลปะ

4.ห้องนิทรรศการววิถึชึวิตชาวใต้

           จัดแสดงเครื่องถ้วย ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ในวิถีชีวิตชาวใต้ เช่น เครื่องมือทำนา เครื่องมือจับสัตว์น้ำ เครื่องดนตรีโนรา หนังตะลุง ฯลฯ

การเดินทาง

เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวจากศาลากลางจังหวัด สุราษฎร์ธานี เส้นทางถนน 4009 สุราษฎร์ – นาสาร ระยะทาง 11.7 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 20-25 นาที ตั้งอยู่ทางซ้ายมือ ตรงกันข้ามกับปั้มน้ำมัน PT

ช่วงเวลา ฤดูกาลที่เหมาะแก่การท่องเที่ยว

ท่องเที่ยวได้ทุกฤดูกาล ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.

กิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่

เยี่ยมชมสถาปัตยกรรมหอพุทธทาสธรรมโฆษณ์ ศึกษาประวัติและผลงานของท่านพุทธทาสภิกขุ ชมเครื่องถ้วย ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ในวิถีชีวิตชาวใต้ ใช้บริการห้องสมุดธรรมโฆษณ์

 รูปหล่อท่านพุทธทาสภิกขุ

 พระพุทธรูปนาคปรกสมัยศรีวิชัยองค์จำลอง

Services

มีที่จอดรถ

แนวปฏิบัติของพื้นที่

ควรแต่งกายให้เหมาะสม

ไม่ควรส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น

แผนที่

แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง

ศูนย์วัฒนธรรมศึกษา เรือนไทย 4 ภาค

พระธาตุศรีสุราษฎร์

บึงขุนทะเล

contact

  • การให้บริการ : ทุกวันทำการ
  • ที่อยู่ : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี 272 หมู่ 9 ตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • โทรศัพท์ 077-913354 หมายเลยโทรสาร 077-913355