วัดโพธาราม

วัดโพธารามสร้างขึ้นเมื่อใดยังไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด แต่ก็เป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่ง ชาวบ้านเรียกวัดแห่งนี้ว่า “วัดเหนือ”  คู่กับวัดสมุหนิมิตที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดล่าง”

สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จวัดโพธาราม เมื่อวันอังคารขึ้น 13ค่ำเดือน 10พ.ศ. 2427ปรากฏความในหนังสือชีวิวัฒน์หน้าว่า

“…ทางประมาณ 7 เส้น 8 เส้น มีวัดๆหนึ่งข้างฟากถนนทิศเหนือ ชื่อว่าวัดโพธาราม มีรั้วไม้เป็นเขื่อน และมีโบสถ์ผนังปูนชำรุดมุงหลังคาจาก กว้างประมาณ 4วา ยาวประมาณ 6วา หน้าโบสถ์หันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือในโบสถ์นั้นมีพระประธานหน้าตัก 3ศอก นั่งอยู่บนฐานปูนเตี้ยแต่กว้าง มีพระพุทธรูปใหญ่น้อยตั้งอยู่เป็นอันมาก มีพระหล่ออย่างเก่าๆและชำรุดมาก และมียานุมาศอย่างเก่าๆอยู่ 2อัน สลักปิดทองล่องชาด มีคานหามสำหรับหามด้วยชำรุดปรักหักพัง ได้สอบถามพระครูกาแก้วก็ไม่ได้ความว่ามาแต่ไหน ทราบว่าเป็นของเก่าตั้งแต่พระครูกาแก้วเกิดมาก็เห็นอยู่ดังนี้ เป็นของเคยใช้สำหรับแห่พระ แห่บวชนาคบ้าง เมื่อพระครูกาแก้วคนนี้บวชก็ได้เคยแห่ยานุมาศอันนี้  ตัวพระครูกาแก้วนั้นบัดนี้อายุถึง 70 ปีแล้ว ต่อวัดนี้ไปก็เป็นบ้านโรงเรือนราษฎร ขายของสินค้ารายไปเหมือนที่ว่ามาแล้วนั้น…”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินวัดโพธาราม เมืองไชยาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ร.ศ.108(2432) ปรากฏความในจดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสแหลมมลายูคราว ร.ศ. 107แล 108 ปรากฏความตอนหนึ่งว่า

“…เสด็จขึ้นประทับบนพลับพลาจนบ่าย ๒ โมง จึงเสด็จพระราชดำเนินไปตามถนนหน้าบ้านพระยาไชยา ผ่านหน้าศาลากลางไปเลี้ยวลงทางวัดสมุหนิมิต เสด็จทอดพระเนตรวัด พระสงฆ์ในวัดนั้นแลวัดอื่นมารับเสด็จ นั่งเต็มไปทุกศาลา พระราชทานปัจจัยมูลแก่พระสงฆ์เหล่านั้นตามสมควรทั่วกัน แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปตามถนนท้องตลาด ในระยะที่เสด็จพระราชดำเนินมานั้น มีบ้านเรือนหลายแห่ง ที่เกือบจะสุดปลายตลาดถึงวัดโพธารามเป็นวัดโบราณ ซึ่งพระครูกาแก้วอยู่ พระอุโบสถหลังคาชำรุด ทรงพระราชศรัทธารับปฏิสังขรณ์พระอุโบสถซึ่งชำรุด ที่พระครูกาแก้วจะเริ่มทำนั้น โปรดเกล้าฯให้พระยาไชยาจัดการปฏิสังขรณ์ มีพระราชดำรัสด้วยพระครูกาแก้วครู่หนึ่งแล้ว พระราชทานปัจจัยมูลแก่พระครูห้าตำลึง พระสงฆ์อันดับองค์ละกึ่งตำลึง แล้วเสด็จพระราชดำเนินต่อไป เมื่อเสด็จวันนี้ข้างในพระราชทานเงินเข้าในการปฏิสังขรณ์ 4ชั่งเศษ เสด็จพระราชดำเนินไปจนสุดตลาด เสด็จกลับทางเดิม ประทับพลับพลา บ่ายโมงครึ่งเสด็จกลับลงเรือพระที่นั่งลงเรืออุบลบุรทิศ…”

และปรากฏในพระราชหัตถเลขาฉบับที่ 4ในพระราชหัตถเลขาเรื่องเสด็จประพาสแหลมมลายูของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า

“….ที่เกือบจะสุดปลายตลาดมีวัดโพธารามเป็นวัดโบราณพระครูกาแก้วอยู่ พระอุโบสถหลังคาชำรุด ยังอยู่แต่ผนังมุงจากไว้ พระครูกาแก้วอายุ 80ปี ตาไม่เห็น หูตึง แต่รูปร่างยังอ้วนพีเปล่งปลั่ง จำการเก่าๆได้มาก ปากคำอยู่ข้างจะแข็งแรงเรียบร้อย เป็นคนช่างเก็บของเก่าแก่อย่างเช่นผ้าไตรฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จฯพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีผ้ากราบปักเป็นต้น ก็ยังรักษาไว้ได้ และเล่าเรื่องราวในการงานที่มีที่กรุงเทพฯ ประกอบสิ่งของได้ด้วย เรียกชื่อคนทั้งชั้นเก่าชั้นใหม่เต็มชื่อเสียงแม่นยำ ได้สนทนากันก็ออกชอบใจ จึงได้รับจะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ซึ่งพระครูได้ตระเตรียมไว้บ้างแล้วนั้นให้สำเร็จ ได้มอบการให้พระยาไชยาเป็นผู้ทำเพราะอิฐและกระเบื้องเขามีอยู่แล้ว จะได้ถวายเงินพระครูช่างห้าตำลึง พระสงฆ์อันดับองค์ละกึ่งตำลึง ข้างในเรี่ยรายกันเข้าในการปฏิสังขรณ์บ้าง เจ้าสาย (พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ) มาทำบุญวันเกิดที่วัดนี้ ได้ถวายเงินในการปฏิสังขรณ์สองชั่งรวมเป็นเงินประมาณสี่ชั่ง ออกจากวัดเดินไปจนสุดตลาดยังมีทางต่อไปอีกหน่อยหนึ่ง จึงจะถึงทุ่งไชยา ทางตั้งแต่บ้านพระยาไชยาจนถึงทุ่งไชยาประมาร 30เส้น…”

วันที่ 12กรกฎาคม พ.ศ. 2445สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จตรวจราชการแหลมมลายู ทรงแวะตรวจราชการเมืองไชยา ได้เสด็จวัดแห่งนี้ปรากฏความว่า

“…กลับจากวัดใหม่ พระครูนำเข้าตรอกมาออกที่ตลาดตรงท้ายวัดโพธิ์ เข้าดูวัดโพธิ์ เป็นวัดเก่ามากกว่าคนในที่นี้  แต่โบสถ์หลังคาพังแล้ว เอาจากยกขึ้นมุงไว้ เดิมมุงกระเบื้องกำปู มีตัวกระเบื้องทิ้งอยู่ มีฐานพระแลองค์พระเล็ก ปั้นอย่างฝีมือดีองค์หนึ่ง บานประตูโบสถ์สลักลายอย่างเก่า แต่ฝีมือผูกแลสลักเป็นปานกลาง เสาเก่าเหลือคู่หนึ่ง เปนเสาไม้บัวปลายสลัก นอกจากนั้นมีพระเจดีย์เล็กอีกองค์หนึ่ง อยู่มุมขวาหลังโบสถ์ เป็นพระเจดีย์อยู่บนฐานคูหาสามชั้นมีคฤห์ นอกนั้นเป็นของใหม่ ได้เข้าไปดูโบสถ์ ดูพระเจดีย์ ดูการปเรียญ ดูโรงเรียนซึ่งเอาหอสวดมนต์ใช้ ไปกุฏิท่านพระครู เมื่อถึงวัดโพธิ์เวลา 5.55เที่ยง25กลับ มาถึงที่พักเที่ยงครึ่ง…”

สิ่งที่น่าสนใจ

1.อุโบสถ เดิมสร้างแต่เมื่อไรไม่มีใครทราบ รู้แต่ว่าได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ในปี 2465( มีเขียนบอกไว้ที่เสาเพดานโบสถ์ ) ดังสภาพที่เห็นในปัจจุบัน หน้าบันพระอุโบสถประดับด้วยกระเบื้องถ้วยชามขนาดใหญ่ประกอบเข้ากับลายปูนปั้นรูปดอกไม้และใบไม้ ถ้วยชามส่วนมากมีอายุในราวต้นกรุงรัตนโกสินทร์ทั้งเครื่องถ้วยจีนและเครื่องถ้วยฝรั่ง บานประตูพระอุโบสถเป็นไม่สลักลายพุ่มข้าวบิณฑ์ลงรักปิดทอง

3.บานหน้าต่างไม้แกะสลักกุฏิพระครูกาแก้ว

4.กุฏิโสภณเจตสิการาม

5.แหล่งเรียนรู้ชุมชนตามรอยท่านพุทธทาส มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีร่วมกับชุมชนและเทศบาลตำบลพุมเรียง บูรณะอาคารเรียนเก่าโรงเรียนวัดโพธาราม ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ท่านพุทธทาสภิกขุเคยศึกษาเล่าเรียน จัดสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน ได้รวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุภายในวัดมาจัดแสดง เช่น ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ คัมภีร์ใบลาน เอกสารโบราณ เครื่องถ้วยชาม พระพุทธรูป พระบฏ ภาพถ่ายเก่า เป็นต้น

การเดินทาง

เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวจากที่ว่าการอำเภอไชยาเส้นทางถนน 4011ไปยังชุมชนพุมเรียง ระยะทาง 6.2 กิโลเมตร ถึง 7-11 พุมเรียงให้เบี่ยงขวา ขับตรงมาเรื่อยๆ ประมาณ 800 เมตร วัดตั้งอยู่ซ้ายมือ

ช่วงเวลา ฤดูกาลที่เหมาะแก่การท่องเที่ยว

ตลอดทั้งปี

กิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่

เยี่ยมชมโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญภายในวัด

Services

มีที่จอดรถ

แนวปฏิบัติของพื้นที่

ควรแต่งกายให้เหมาะสม

ไม่ควรส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น

แผนที่

แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง

วัดพระบรมธาตุไชยา

สวนโมกขพลาราม

โบราณสถานวัดรัตนาราม

contact

  • การให้บริการ : ทุกวันทำการ เวลา 07.00-18.00 น.
  • ที่อยู่ : เลขที่ 98หมู่ที่ 3ถนนราษฎร์บำรุง ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • โทรศัพท์: เทศบาลตำบลพุมเรียง เบอร์โทร 077 950 500