วัดสมุหนิมิต

วัดสมุหนิมิต ชาวบ้านเรียกว่าวัดล่าง คล้ายกับเป็นวัดคู่แฝดกับวัดเหนือ( วัดโพธาราม ) เพราะเป็นวัดใหญ่เคยเจริญรุ่งเรืองมีขุนนางอุปถัมภ์เหมือนกัน ตามข้อความในศิลาจารึกที่ฝังอยู่กับผนังพระอุโบสถกล่าวว่า วัดสมุหนิมิต เดิมชื่อวัดรอ เจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีว่าที่กรมพระกลาโหม ซึ่งเป็นต้นตระกูลของพระอภิรมย์สินนารักษ์ บุนนาค ออกมาสักเลขหัวเมืองปักษ์ใต้ เมื่อ พ.ศ. 2392เห็นวัดรกร้างจึงได้สร้างขึ้นใหม่ และสร้างเสร็จภายในเวลาเพียง 4เดือน จึงได้ขนานนามใหม่ว่า วัดสมุหนิมิต

สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จวัดสมุหนิมิต เมื่อวันอังคารขึ้น13ค่ำ เดือนสิบพ.ศ. 2427ปรากฏความในหนังสือชีวิวัฒน์ ความว่า

“…แล้วมีถนนตรงไปจากสนามหญ้าทางตะวันตก เป็นถนนพระยาไชยาคนนี้ได้ตัดทำใหม่ไว้กว้างประมาณ 8ศอก ตรงไปหน่อยหนึ่งมีวัดๆหนึ่ง มีโบสถ์ก่ออิฐมุงกระเบื้อง ช่อฟ้าใบระกากว้างประมาณ 4วา ยาว 6วา ข้างในมีพระประธาน หน้าตักกว้าง 4ศอก หันหน้าโบสถ์ไปด้านตะวันออก มีกำแพงแก้วและพัทธเสมาล้อมรอบโบสถ์ เสมาไชยหน้าโบสถ์นั้นมีพาไลมุงกระเบื้องออกมาจากหน้าโบสถ์ ตัวเสมาอยู่ในร่ม ข้างหลังโบสถ์เป็นกุฏิพระ ต่อไปเป็นรั้ววัดเป็นไม้ปักห่าง ๆ เป็นขอบสูงประมาณ ๔ ศอก ประตูเป็นคอกและล้อมประตูก่ออิฐ วัดนี้ชื่อวัดสมุหนิมิต เป็นของสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ปฏิสังขรณ์ ตรงวัดข้ามถนนทิศเหนือมีพระเจดีย์ มีฐานก่อสูงประมาณ 5 ศอก สูงทั้งพระเจดีย์ด้วยประมาณ 5วา มีศาลาคดเล็กๆ 4มุม มีกำแพงแก้วชักติดกันรอบ รอบพระเจดีย์องค์นี้เป็นของพระครูกาแก้วองค์เก่าสร้าง ต่อถนนไปอีกมีสะพานข้ามคูไป ถนนเลี้ยวไปทางทิศเหนือ ข้างฟากถนนข้างตะวันตกมีลานกว้าง…”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินวัดสมุหนิมิต เมืองไชยา เมื่อวันที่ 6สิงหาคม ร.ศ. 108(พ.ศ.2432) ปรากฏความในจดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสแหลมมลายูคราว ร.ศ. 107แล 108 ความตอนหนึ่งว่า

“…เสด็จขึ้นประทับบนพลับพลาจนบ่าย 2โมง จึงเสด็จพระราชดำเนินไปตามถนนหน้าบ้านพระยาไชยา ผ่านหน้าศาลากลางไปเลี้ยวลงทางวัดสมุหนิมิต เสด็จทอดพระเนตรวัด พระสงฆ์ในวัดนั้นแลวัดอื่นมารับเสด็จ นั่งเต็มไปทุกศาลา พระราชทานปัจจัยมูลแก่พระสงฆ์เหล่านั้นตามสมควรทั่วกัน แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปตามถนนท้องตลาด ในระยะที่เสด็จพระราชดำเนินมานั้น มีบ้านเรือนหลายแห่ง ที่เกือบจะสุดปลายตลาดถึงวัดโพธารามเปนวัดโบราณ ซึ่งพระครูกาแก้วอยู่…”

วันที่ 12กรกฎาคม พ.ศ. 2445สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จตรวจราชการแหลมมลายู ทรงแวะตรวจราชการเมืองไชยา ได้เสด็จวัดสมุหนิมิต ทรงบันทึกสภาพของวัดในสมัยนั้นว่า

“…แล้วกลับมาทางเดิมมาถึงวัดสมุหนิมิตเวลา4.50เข้าดูวัด พระครูกาแก้วรับรองวัดนี้สมเด็จองค์ใหญ่(สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ดิศ บุนนาค) สร้างคราวมาสักเลข จุล.1210ทำทีเปนไทยเจือจีน ทำนองวัดประยุรวงษ์ ท่าทางก็คล้ายฉะนั้น แต่เลวกว่ามาก ใช้เสาไม้ก่ออิฐ  วัดที่ว่าถึงศักราชได้เพราะมีจาฤกได้คัดมาแล้ว เวลา 5.30กลับจากวัดสมุหท่านพระครูพาเดินไปถึงออฟฟิศโทรศัพท์…”

สิ่งที่น่าสนใจ

1.อุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ด้านหน้ามีบันใดทางขึ้น 2ทาง ฐานอุโบสถลักษณะเป็นฐานประทักษิณหรือฐานไพทีสามารถเดินได้รอบ มีเสาสี่เหลี่ยมเรียงรายรอบพระอุโบสถรองรับปีกนกหลังคา หน้าบันตกแต่งด้วยลายปูนปั้นรูปดอกไม้ประดับกระจกสี หน้าต่างและบานประตูเขียนลายดอกไม้ร่วง และผีเสื้อลงรักปิดทองอย่างสวยงาม

2.ศิลาจารึก จำนวน 2หลัก อักษรไทย ภาษาไทย สลักบนแผ่นหินชนวน ฝังไว้ที่ผนังด้านสกัดของผนังพระอุโบสถด้านทิศตะวันออกตรงข้ามพระประธาน ได้แก่ จารึก ส.ฎ.2เป็นอักษรไทย ภาษาไทย ทำด้วยหินชนวนรูปสี่เหลี่ยมกว้าง62เซนติเมตร สูง 33.5เซนติเมตร  หนา 3เซนติเมตร จารึก ส.ฎ.7ฝังอยู่ผนังพระอุโบสถเช่นกัน โดยอยู่ทางด้านขวาของจารึก ส.ฎ.2เป็นอักษรไทย ภาษาไทย ทำด้วยหินชนวนสีดำ รูปสี่เหลี่ยมกว้าง 24เซนติเมตร สูง 33เซนติเมตร หนา 3เซนติเมตร

3.ศิลาจารึก สฎ.6รูปร่างเหมือนใบเสมา ทำด้วยหินทรายแดง จารึกด้วยอักษรขอม ภาษาไทย ขนาดกว้าง 36เซนติเมตร สูง 39เซนติเมตร หนา 11เซนติเมตร พบที่วัดจำปา ตัวจารึกระบุพุทธศักราช 2319และได้ส่งต่อไปยังกองหอสมุดแห่งชาติเพื่อดำเนินการ อ่านและแปล แต่ยังไม่ได้ความตลอด ต่อมาในวันที่ 5มีนาคม 2514ผู้อำนวยการกองหอสมุดแห่งชาติ พระนคร พร้อมคณะเดินทางไปราชการภาคใต้ จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการอัดสำเนาศิลาจารึกนี้อีกครั้งหนึ่ง และได้มอบให้นายประสาร บุญประคอง อ่านและแปล ปัจจุบันศิลาจารึกหลักนี้เก็บไว้ที่ซุ้มลูกกรง หลังพระอุโบสถใกล้กับเจดีย์บรรจุสังขาร พระครูวิจารณ์โกศล (มัย) และพระครูพิพัฒน์สมุหประดิษฐ์ (จรูญ) อดีตเจ้าอาวาส

4.ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำศิลปะรัตนโกสินทร์จำนวน2ตู้ ซึ่งสันนิษฐานว่าได้ย้ายมาจากวัดตระพังจิก(สวนโมกข์เก่า)เมื่อครั้งสร้างวัดสมุหนิมิตเสร็จพร้อมด้วยได้นิมนต์พระครูรัตนมุนีศรีสังฆราชาลังกาแก้ว (พิน) เจ้าอาวาสวัดตระพังจิกมาเป็นเจ้าอาวาส จึงเป็นเหตุให้วัดตระพังจิกกลายเป็นวัดร้างในเวลาต่อมา

5.คัมภีร์ใบลานต่างๆพบอยู่ภายในตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ ส่วนใหญ่เป็นคัมภีร์ใบลานห่อด้วยผ้าทอและผ้ายกโบราณ ตลอดจนตำรายาต่างๆ

6.พระพุทธรูปประทับยืน ๒ องค์ ศิลปะรัตนโกสินทร์ องค์ที่ 1เป็นปางห้ามญาติหล่อด้วยทองเหลือง ลงรักปิดทองขนาดเท่าบุคคลจริง ประทับบนบัวหงายเหนือฐาน 3ชั้น มีฉัตรกางกั้นเหนือพระเศียร ที่ฐานพระพุทธรูปมีจารึก ได้ระบุชื่อผู้สร้างคือ พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) เจ้าเมืองไชยา องค์ที่ 2เป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร หล่อด้วยทองเหลืองลงรักปิดทอง ปัจจุบันทางวัดได้ทาสีทองทั่วทั้งองค์พระพุทธรูปเนื่องจากรักได้มีการเสื่อมสภาพ หลุดลอก ที่ฐานพระพุทธรูปมีจารึกระบุชื่อผู้สร้าง คือคุณหญิงชื่น ศรียาภัย ซึ่งเป็นธิดาของพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) เจ้าเมืองไชยา

7.เจดีย์ใหญ่ อยู่ที่น่าประตูนอกวัดหักพังลงมาเหลือแต่ฐาน สูงจากพื้นดินประมาณ 1เมตร มีบันไดทางขึ้นทั้ง 4ทิศ มีการประดับด้วยลูกกรงดินเผาเคลือบแบบจีนอย่างที่นิยมใช้ในรัชกาลที่ 3ชิ้นส่วนลูกกรงเหล่านี้ได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา ส่วนเจดีย์ในปัจจุบันมีต้นโพธิ์ขึ้นปกคลุมทรุดโทรมมาก ที่ฐานเจดีย์มีหลักศิลาจารึกภาษาจีนตั้งอยู่ 1หลัก ยังคงตั้งอยู่ ณ ที่เดิม

การเดินทาง

เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวจากที่ว่าการอำเภอไชยาเส้นทางถนน 4011ไปยังชุมชนแหลมโพธิ์ ระยะทาง 6.7 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 10 นาที วัดตั้งอยู่ขวามือ ใกล้กับโรงเรียนวัดพุมเรียง

ช่วงเวลา ฤดูกาลที่เหมาะสมแก่การท่องเที่ยวสามารถท่องเที่ยวได้ทุกฤดูกาล เวลา 07.00-18.00

 

กิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่

เยี่ยมชมโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญภายในวัด

Services

มีที่จอดรถ

แนวปฏิบัติของพื้นที่

ผู้เข้าชมต้องแต่งกายสุภาพ

ไม่ควรส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น

พื้นที่ปลอดบุหรี่

แผนที่

แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง

วัดพระบรมธาตุไชยา

สวนโมกขพลาราม

โบราณสถานวัดหลง

contact

  • การให้บริการ : ทุกวันทำการ เวลา 07.00 – 18.00 น.
  • ที่อยู่ : เลขที่ 176 ถนนราษฎร์บำรุง ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • โทรศัพท์: เทศบาลตำบลตลาดไชยา 077 431150